หลายคนคงลืมนึกไปว่า “อาหารทะเล” จานโปรด ที่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนให้ปราศจากเชื้อโรคแล้ว ยังอาจมีสารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนได้อยู่อีก แล้วจะมีวิธีอะไรที่ช่วยลดอันตรายจากการบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนได้ ติดตามอ่านได้เลย !

ไทยนับเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งในภาคการประมง ในเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 มีการส่งออกสินค้าประมงมากกว่า 3 แสนเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท[1] ในขณะเดียวกัน การบริโภคสินค้าประมง หรืออาหารทะเลภายในประเทศทั้งรูปแบบสด และแปรรูป มีปริมาณมาก ทำให้เราต้องนำเข้าสินค้าประมงมากถึง 1.5 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท[1]

อาหารทะเล นอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยเป็นที่ถูกปากแล้ว ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย  อาหารทะเลมีโปรตีนชั้นดีที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ และยังเป็นแหล่งรวมสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โอเมก้า 3 ไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี รวมถึงวิตามินบี 1 บี 2 และบี 6 อีกด้วย

แม้ว่าอาหารทะเลจะเต็มไปด้วยคุณค่าและสารอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็ไม่รอดพ้นจากการปนเปื้อนของสารเคมีที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม  ดังนั้น เมื่อมีการใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น กอปรกับวิธีจัดการสารเคมีที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ “โลหะ” ประเภทต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสารเคมี ถูกแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม  ซึ่ง “โลหะ” ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงเกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ หรืออากาศ รวมถึงสะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ และเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต ทั้งคน พืช สัตว์บก รวมถึงสัตว์น้ำด้วย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการรายงานว่าพบการปนเปื้อนของสารพิษและโลหะหลายชนิดในอาหารทะเลตลอดมา เนื่องจากสัตว์ทะเลหลายชนิดมีความสามารถในการสะสมโลหะหนักที่เป็นพิษ อีกทั้งความเข้มข้นของโลหะหนักในเนื้อเยื่อ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สัมผัสกับโลหะหนักด้วย โดยเฉพาะ “ปรอท” ที่มักพบในหอย กุ้ง และปลา 

ดังนั้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับการตรวจวัดปริมาณโลหะในอาหารมากยิ่งขึ้น และมีมาตรการกำหนดปริมาณสารปนเปื้อนและโลหะหนักในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสังกะสี ทองแดง และปรอท ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคอาหารทะเล มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ช่วยลดการกีดกันทางการค้าลงได้

เมื่อมาพิจารณามาตรฐานความปลอดภัยในอาหารที่มีการปนเปื้อนของโลหะ ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข จะพบประกาศ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท[2] และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน[3] ซึ่งความเป็นพิษ[4],[5] ชนิดของอาหาร และเกณฑ์มาตรฐานที่อนุญาตให้พบโลหะในอาหาร ดังแสดงในภาพด้านล่าง

เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานด้านอาหารของประเทศคู่ค้า และเพื่อสนับสนุนให้การตรวจวัดโลหะในอาหารทะเลของประเทศไทย มีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ กลุ่มงานวิเคราะห์อนินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้พัฒนาวิธีตรวจวัดปริมาณโลหะในตัวอย่างอาหารทะเล จนได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ มอก.17025-2561 (ISO/IEC 17025: 2017) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จำนวน 4 รายการวัด[6] และได้ประกาศขีดความสามารถของการสอบเทียบและการวัด (Calibration and Measurement Capability, CMC) ใน BIPM Key Comparison Database (KCDB) จำนวน 3 รายการวัด[7]

นอกจากพัฒนาวิธีตรวจวัดปริมาณโลหะในตัวอย่างอาหารทะเลและ เปิดให้บริการการวัดแล้ว การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวัดก่อนการใช้งาน นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ  กลุ่มงานฯ จึงได้ผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองโลหะในอาหารทะเล ในนาม Thailand Reference Material TRM-F-2004 (Elements and Methylmercury in Tuna Tissue)  มีการศึกษาความเป็นเนื้อเดียวกัน (Homogeneity) ศึกษาความเสถียร (Stability) และให้ค่ารับรอง พร้อมค่าความไม่แน่นอนของโลหะและสารประกอบรวม 8 ชนิด ได้แก่ สารหนู โครเมียม ทองแดง แมงกานีส ปรอท  เมธิลเมอร์คิวรี สตรอนเทียม และสังกะสี

โดยวิธีที่ใช้ในการให้ค่ารับรอง ได้แก่

(1)  Isotope dilution-inductively coupled plasma-mass spectrometry (ID-ICP-MS)

(2) Gravimetric standard addition-inductively coupled plasma-mass spectrometry (GSA-ICP-MS) และ

(3) External calibration analysis with High performance liquid chromatography (HPLC)-ICP-MS

ซึ่งการผลิตเป็นไปตาม ISO Guide 35:2017 (Reference materials – Guidance for characterization and assessment of homogeneity and stability) เพื่อตอบสนองความต้องการของห้องปฏิบัติการภายในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างระบบมาตรวิทยาเคมีของประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการวัดที่เกี่ยวข้องกับการวัดโลหะในอาหารทะเล ให้มีคุณภาพและส่งผลให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดูรายละเอียดการให้บริการการวัดและวัสดุอ้างอิงรับรองได้ทาง www.nimt.or.th

เอกสารอ้างอิง:

[1]  http://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx   สืบค้นเมื่อ 19 ม.ค. 2564 
[2]  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P355.pdf
[3]  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน 
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/118/T_0017.PDF
[4]  http://envocc.ddc.moph.go.th/contents?g=14&page=1 สืบค้นเมื่อ 19 ม.ค. 2564
[5]  https://www.siamchemi.com สืบค้นเมื่อ 19 ม.ค. 2564
[6]  http://www.nimt.or.th/main/wp-content/uploads/2020/11/ Certificate-of-Laboratory-Accreditation-Klong-5-Pathumthani-เริ่ม-13-ส.ค.-63-ถึง-5-ก.ย.-65.pdf สืบค้นเมื่อ 19 ม.ค. 2564
[7]  https://www.bipm.org/kcdb/cmc/quick-search?includedFilters=cmcDomain.CHEM-BIO&excludedFilters=&page=0&keywords=Thailand  สืบค้นเมื่อ 19 ม.ค. 2564

เนื้อหาโดย:

ดร.เนตติกานต์ อ่อนไทย
กลุ่มงานวิเคราะห์อนินทรีย์เคมี
ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ

Graphic Design:

ฐานิยา  คัมภิรานนท์
กลุ่มงานสื่อสารองค์การ

Picture credit:

 freepik.com