โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการสู่การมีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการให้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ มีการทำงานอย่างเป็นระบบ เกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้าและบริการของไทย แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีโลก รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ นำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

เนื่องจาก โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (Quality Infrastructure: QI) ได้รับการยอมรับว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเริ่มมีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นในการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ จึงได้มีการหารือเกี่ยวกับนิยามของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพในการประชุมประจำปีของ Network on Metrology, Accreditation and Standardization for Developing Countries (DCMAS) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 โดยมี United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) เป็นเจ้าภาพ

โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure หรือ NQI) คือ ระบบที่ประกอบขึ้นจากองค์กร ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมีนโยบาย กฎหมายและกรอบการกำกับดูแล และแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยองค์กรในระบบ NQI ดำเนินงานร่วมกันภายใต้กระบวนการ 5 ด้าน ได้แก่

มาตรวิทยา

Metrology

การกำหนดมาตรฐาน

Standardisation

การรับรอง
ระบบงาน

Accreditation

การตรวจสอบ
และรับรอง

Conformity Assessment

การกำกับ
ดูแลตลาด

Market Surveillance

องค์ประกอบ 5 ด้านนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ (1) กลุ่มแกน (core component) ที่มีการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ และ (2) กลุ่มบริการและกำกับดูแล เพื่อให้ผลการดำเนินการของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ มีประสิทธิภาพ สามารถลด หรือขจัดกำแพงการค้าทางเทคนิคได้จริง

กลุ่มแกน ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ลำดับแรก ได้แก่ มาตรวิทยา (metrology) การกำหนดมาตรฐาน (standardisation) และการรับรองระบบงาน (accreditation) โดยทั้ง 3 องค์ประกอบมีการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติผ่านการจัดทำข้อตกลงระดับพหุภาคี เพื่อสร้างการยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ดังนั้นการดำเนินการใน 3 องค์ประกอบแรกนี้จึงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่รัฐมอบหมาย มีสถานะเป็นผู้แทนของรัฐในการดำเนินการ รวมทั้งเป็นผู้แทนรัฐในการเจรจาระหว่างประเทศและลงมติในด้านนั้น ๆ

กลุ่มบริการและกำกับดูแลประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ลำดับสุดท้าย ได้แก่ การตรวจสอบและรับรอง (conformity assessment) และการกำกับดูแลตลาด (market surveillance) ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือถ่ายทอดผลลัพธ์ของการดำเนินงานของ 3 องค์ประกอบแรกมาสู่ภาคการใช้งาน (user) และตลาด (market) ดำเนินการโดยหน่วยที่มีความสามารถ (competency) หรือได้รับมอบหมาย (authorised) โดยที่การตรวจสอบและรับรองทำไปเพื่อแสดงคุณภาพ หรือความสอดคล้องกับมาตรฐาน จึงเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจ ในขณะที่การกำกับดูแลตลาดเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้าและในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค

จากที่ได้อธิบายข้างต้นถึงลักษณะ และองค์ประกอบของ ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ จึงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพระหว่างประเทศขึ้นสำหรับ 3 องค์ประกอบแรก คือ มาตรวิทยา การกำหนดมาตรฐาน และการรับรองระบบงาน โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับนานาชาติ (international level) ระดับภูมิภาค (regional level) และระดับชาติ (national level) ใช้การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ระหว่างประเทศสมาชิกเป็นเครื่องมือ โดยสมาชิกร่วมกันกำหนดเกณฑ์การยอมรับร่วม (mutual recognition criteria) ซึ่งประเทศสมาชิกมีหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว โดยองค์กรระดับชาติขององค์ประกอบนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้การยอมรับร่วม เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ ระหว่างประเทศ แสดงได้ตามแผนภูมิ

โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพระหว่างประเทศ (International Quality Infrastructure)

มาตรวิทยา (metrology) หมายถึง วิทยาศาสตร์ของการวัด (science of measurement) จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำให้การวัด (measurement) มีความแม่นยำและเที่ยงตรง และผลการวัด (measurement result) ไม่ว่าจะกระทำที่ใด เมื่อใด หรือโดยผู้ใดสามารถเปรียบเทียบกันได้ และผลการวัดสามารถนำไปใช้งานได้ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ กระบวนการมาตรวิทยาเริ่มต้นจากการตกลงเลือกหน่วยวัด (unit of measurement) เพื่อเป็นปริมาณอ้างอิง ดังนั้นระบบมาตรวิทยาระหว่างประเทศจึงเริ่มต้นจากการจัดตั้งระบบหน่วยที่ยอมรับร่วมกันทั่วโลก เนื่องจากระบบหน่วยดังกล่าวเป็นพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศ จึงทำให้การตกลงยอมรับระบบหน่วยวัดร่วมกันนี้กระทำในรูปแบบของอนุสัญญาระหว่างประเทศ เรียกว่า อนุสัญญาเมตริก (The Convention of the Metre) มีการลงนามครั้งแรกในปี 2418 (ค.ศ. 1875) ระบบหน่วยดังกล่าวได้พัฒนาต่อมาจนเป็นระบบหน่วยเอสไอ (International System of Units: SI Units) ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการวัดทั้งปวงในปัจจุบัน

หน่วยฐาน (base unit) ในระบบหน่วยเอสไอคือปริมาณอ้างอิง หากผลการวัดจะสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างมีความหมาย (meaningful) ก็หมายความว่าผลการวัดจะต้องอ้างอิงกับปริมาณอ้างอิงเดียวกัน ดังนั้นแนวคิดเรื่องความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา (metrological traceability) จึงเป็นแนวคิดหลักของกระบวนการมาตรวิทยา ความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยานี้แสดงผ่านมาตรฐานการวัด (measurement standards) กล่าวคือมาตรฐานการวัดอ้างอิงของประเทศ หรือมาตรฐานการวัดแห่งชาติ (national measurement standard) ต้องมีความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาไปยังหน่วยเอสไอ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการที่รับรองว่า มาตรฐานการวัดแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพื่อเป็นหลักอ้างอิง ส่วนมาตรฐานการวัดระดับรองลงมาในประเทศใด ๆ ให้มีความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาไปยังมาตรฐานการวัดแห่งชาติ นอกจากจะเป็นหลักอ้างอิงในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านกระบวนการชั่ง ตวงและวัดแล้ว ปัจจุบัน มาตรวิทยายังได้รับการประยุกต์ในอีกหลายด้าน เช่น ในกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพทางอุตสาหกรรม ในกระบวนการ
นิติวิทยาศาสตร์และในการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น โครงสร้างของกระบวนการทางมาตรวิทยาสามารถแสดงได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

โครงสร้างกระบวนการทางมาตรวิทยา (metrological methodology)

ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาเมตริกตั้งแต่ปี 2455 และเข้าร่วมข้อตกลงการยอมรับร่วมในมาตรฐานการวัดแห่งชาติและใบรับรองการสอบเทียบที่ออกโดยสถาบันมาตรวิทยาของประเทศสมาชิก (CIPM Mutual Recognition Arrangement: CIPM MRA) ในปี 2542

การกำหนดมาตรฐาน (standardisation) หมายถึง การจัดทำเอกสารข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบ หรือแนวปฏิบัติในการดำเนินงานให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในการผลิตสินค้าของโรงงานผู้ผลิต หรือการนำไปใช้อ้างอิงเพื่อการจัดซื้อของผู้ซื้อ โดยข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือแนวทางข้างต้นอาจจะเป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ หรือรายละเอียดกระบวนการก็ได้ เช่น มาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต อาจกำหนดขนาดและความสามารถในการรับแรงดึงที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น เพื่อให้มาตรฐานของประเทศใดประเทศหนึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า จึงมีการจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ (international standardisation organisation) ขึ้นหลายสาขา เพื่อเป็นองค์กรกลางในการจัดให้มีมาตรฐานระหว่างประเทศ (international standards) ที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งองค์กรการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก นำมาตรฐานระหว่างประเทศไปใช้ หรือเป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดมาตรฐานของประเทศ (national standard)

ตัวอย่างองค์กรกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ International Organization for Standardization (ISO) และ International Electrotechnical Commission (IEC) ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้ง International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระดับของมาตรฐานสามารถแสดงได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

ระดับของมาตรฐาน (levels of standard)

การรับรองระบบงาน (accreditation) หมายถึง กระบวนการประเมินหน่วยตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment Body: CAB) ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างอิสระ เพื่อให้มั่นใจในความเป็นกลางและความสามารถของหน่วยดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาล ผู้ซื้อและผู้บริโภคสามารถเชื่อมั่นในผลการสอบเทียบและทดสอบ (calibration and test result) รายงานการตรวจ (inspection report) และใบรับรอง (certification) ที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบและรับรอง

องค์กรรับรองระบบงาน (Accreditation Body, AB) ในหลายประเทศ ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรับประกันว่าหน่วยตรวจสอบและรับรองได้รับการตรวจสอบ รับรองและกำกับดูแลโดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ (authoritative body) องค์กรรับรองระบบงานที่ได้รับการประเมินว่ามีความสามารถจะลงนามในข้อตกลง (arrangement) ที่ผลักดันการยอมรับผลิตภัณฑ์และบริการข้ามพรมแดน จึงเป็นการสร้างกรอบที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศผ่านการยกเลิกกำแพงการค้าทางเทคนิค โดย International Accreditation Forum (IAF) รับผิดชอบบริหารข้อตกลงเกี่ยวกับการรับรองระบบบริหาร ผลิตภัณฑ์ บริการ บุคลากร และโปรแกรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรอง ส่วน International Laboratory Accreditation Cooperation (ILAC) รับผิดชอบบริหารข้อตกลงเกี่ยวกับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการและหน่วยตรวจ โครงสร้างของกระบวนการรับรองระบบงาน และความสัมพันธ์กับการตรวจสอบและรับรองสามารถแสดงได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

การรับรองระบบงานและความเชื่อมโยงกับการตรวจสอบและรับรอง
(accreditation and conformity assessment)

อย่างไรก็ตาม ลำพังองค์ประกอบหลักสามด้านข้างต้น ไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้งานระบบ QI ในภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบที่เหลืออีกสองด้าน มีรายละเอียดดังนี้

การตรวจสอบและรับรอง (conformity assessment) หมายถึง การดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการเพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ บริการ หรือระบบมีสมบัติตามที่มาตรฐานระบุหรือไม่ รูปแบบหลักของการตรวจสอบและรับรองคือ การทดสอบ (testing) การรับรอง (certification) และการตรวจ (inspection) การผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองมีประโยชน์หลายด้าน เช่น สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ และช่วยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตัดสินว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการ มีสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขด้านความปลอดภัย สุขอนามัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งของการตรวจสอบและรับรอง คือ ผลการตรวจสอบและรับรองเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในทุกประเทศ การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ หน่วยตรวจสอบและรับรองต้องได้รับการรับรองระบบงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (accredited) โดยองค์กรรับรองระบบงานที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถ (competent accreditation body) และใช้การตรวจสอบและรับรองที่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ (conform to international or recognised standard)

การกำกับดูแลตลาด (market surveillance) คือกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าสินค้าและบริการที่เข้าสู่ตลาดนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ความเป็นธรรมทางการค้า การแข่งขันที่เป็นธรรมและประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ การกำกับดูแลตลาดใช้เครื่องมือและกลไกตามกฎหมาย เช่น การสั่งให้ถอนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดออกจากตลาด การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ การปรับ การห้ามไม่ให้เข้าสู่ตลาด และวิธีการอื่น ๆ ที่จะหยุดการหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์นั้นในตลาด รวมถึงการให้ผู้ผลิตแก้ไขจนผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

การกำกับดูแลตลาด ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อสินค้า และช่วยให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และไม่ต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่พ่อค้าที่ทุจริต ความอ่อนแอหรือความไม่มีประสิทธิภาพของการกำกับดูแลตลาดจะทำให้เกิดภาวะตลาดล้มเหลว (market failure) นั่นคือผู้ประกอบการที่ผลิตและขายสินค้าที่ดีไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการที่ทุจริตได้ ต้องเลิกกิจการในที่สุด และท้ายที่สุด ผู้บริโภคจะไม่มีความมั่นใจในการซื้อสินค้าในตลาดนั้น ทำให้ตลาดหดตัวและปิดตัวลงในที่สุด

การกำกับดูแลตลาดต้องทำงานร่วมกับศุลกากรอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด ความท้าทายในการกำกับดูแลตลาดในปัจจุบันคือจำนวนสินค้าที่เข้าสู่ตลาดในแต่ละวันนั้นมากมายและเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งสินค้าที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนก็เพิ่มจำนวนและความหลากหลายขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

Click ที่ภาพ เพื่อ

DOWNLOAD
สมุดปกขาว โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ

มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

Click ที่ภาพ เพื่อ DownloadE-Brochure: มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนา...

อ่านเพิ่มเติม
มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าว

มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าว

Click ที่ภาพ เพื่อ DownloadE-Brochure: มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนา...

อ่านเพิ่มเติม
แผ่นพับ – มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวและสมุนไพรไทย

แผ่นพับ – มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวและสมุนไพรไทย

แผ่นพับ – มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวและสมุนไพรไทย...

อ่านเพิ่มเติม