ลิปสติก (lipstick) เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ประกอบด้วยรงควัตถุ น้ำมัน ขี้ผึ้ง และสารให้ความชุ่มชื้น ใช้สำหรับทาสี ลวดลาย และเกราะป้องกันไว้บนริมฝีปาก ซึ่งพบหลักฐานว่าลิปสติกเกิดจากการนำอัญมณีมาบดจนเป็นผงละเอียด และผู้หญิงในที่ราบลุ่มเมโสโปเตเมียรู้จักการทาปากเมื่อประมาณ 5000 ปีที่แล้ว (1)

ลิปสติกเป็นเครื่องสำอางชนิดแรกๆ ที่ผู้หญิงมักนึกถึงและใช้กันอย่างกว้างขวาง จึงถือว่าเป็นของคู่กับผู้หญิงในทุกยุคทุกสมัย นอกจากจะช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้น ช่วยปกป้องผิวของริมฝีปากแล้ว ยังช่วยแต่งเติมรูปปากให้สวยงามขึ้น แต่งสีให้สะดุดตาแลดูงดงาม

ลิปสติกมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายสีสัน  โดยทั่วไปลิปสติกมีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 ส่วน ดังนี้

1. แว็กซ์ หรือไขแข็ง (Wax)

ทำหน้าที่ในการช่วยทำให้ลิปสติกนั้นสามารถขึ้นรูปเป็นแท่งได้ง่าย เช่น

Cr. www.craftovator.co.uk

ไขคาร์นอบา (Carnauba wax)
เป็นไขที่ได้มาจากใบของพืชในตระกูลปาล์มประจำถิ่น ที่ขึ้นเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีคุณสมบัติเป็นสารเคลือบเงา รักษาความชุ่มชื้น และเป็นไขธรรมชาติที่แข็งที่สุด เหมาะสำหรับช่วยเพิ่มความคงตัวให้กับลิปสติก ป้องกันไม่ให้ลิปสติกเหลวหรืออ่อนตัวแม้อยู่ในอุณหภูมิสูง (มีช่วงหลอมเหลวระหว่าง 82 ถึง 86 องศาเซลเซียส) ไม่ละลายในน้ำและเอทานอล (2)

Cr. www.thesoapkitchen.co.uk

ไขแคนเดลิลลา (Candelilla wax)
เป็นไขที่ได้มาจากต้นแคนเดลิลลา มีถิ่นกำเนิดในแม็กซิโกตอนเหนือและตอนใต้ของอเมริกา มีคุณสมบัติเพิ่มความเงางามให้กับเนื้อลิปสติก มีจุดหลอมเหลวที่ 67 องศาเซลเซียส ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Sovent) เนื้ออ่อนกว่าไขคาร์นูบา แต่แข็งกว่าขี้ผึ้ง (Bees wax)

Cr. www.amesfarm.com

ขี้ผึ้ง (Bees wax)
เป็นไขที่สกัดมาจากน้ำผึ้งในบริเวณท้องน้อยที่ผึ้งสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างรัง จึงเป็นของแข็งเนื้ออ่อนนุ่มและให้เนื้อได้มาก ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น เนื่องจากมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าไขชนิดอื่นๆ ดังนั้นเพื่อให้ลิปสติกมีความคงตัวเป็นแท่ง จึงต้องผสมกับไขชนิดอื่นๆ (3) (4)

Cr. maiwa.com

ไขที่มาจากแร่ธาตุ (Mineral wax)
ได้แก่ ไขไมโครคริสตัลไลน์ (Microcrystalline wax) เนื้อมีลักษณะเรียบเนียน มีการดูดซับน้ำมัน จึงช่วยป้องกันการแยกตัวของน้ำมัน นิยมนำมาทำลิปบาล์ม

2. น้ำมัน (Oil)

น้ำมันในลิปสติกทำหน้าที่เป็นตัวหลอมละลาย หรือทำหน้าที่เป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ทำให้แว็กซ์, สีและส่วนผสมอื่นๆ รวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ดี ทำให้ลิปสติกอ่อนนุ่ม ช่วยให้ริมฝีปากนุ่มชุ่มชื้น ไม่แห้งแตกและเป็นขุยได้อย่างดี โดยน้ำมันที่นิยมใช้กัน มีดังนี้

Cr. parenting.firstcry.com

น้ำมันแคสเตอร์ (Castor oil) หรือน้ำมันละหุ่ง
มีองค์ประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่หลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acid) คือ กรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic acid) ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้เนื้อลิปสติกเกาะตัวกันได้ดี และทำให้ริมฝีปากนุ่มนวล

Cr. www.lipstickmaker.com

น้ำมันเมล็ดแมคคาเดเมีย (Macadamia nut oil)
เป็นน้ำมันที่มีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกับผิวหนัง คือ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fatty Acid) สูงถึง 80% เช่น กรดปาลมิโตเลอิก (Palmitoleic acid) กรดโอเลอิก (Oleic acid) กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) และกรดไลโนเลนิก (linolenic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการซึมสู่ผิวได้ง่าย ทำให้ริมฝีปากนุ่มลื่น

Cr. www.primalkitchen.com

น้ำมันอะโวคาโด (Avocado oil)
เป็นน้ำมันที่สกัดจากเนื้อของผลอะโวคาโด อุดมไปด้วยวิตามินอี กรดไลโนเลอิก และกรดโอเลอิกสูงกว่า 70% ช่วยในการซึมสู่ผิวได้ดี และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ริมฝีปาก

Cr. www.healthline.com

น้ำมันเมล็ดองุ่น (Grape seed oil)
มีสาร OPC (oligomeric proanthrocyanidin) ที่อยู่ในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ ในปริมาณที่สูงซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินซีถึง 20 เท่า มีกรดไลโนเลอิก และกรดโอเลอิกสูงกว่า 90% มีคุณสมบัติในการซึมสู่ผิวได้ง่าย และบำรุงริมฝีปากให้ชุ่มชื้น

Cr. oliveandroseessentials.com, 
thesulu.com, nimitmaicosmetic.com

น้ำมันลาโนลิน (Lanolin oil)
สกัดมาจากน้ำมันบนขนแกะ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ขนแกะมีความนุ่มนิ่มอยู่เสมอ ไม่ว่าอากาศจะแห้งแล้งหรือหนาวขนาดไหน ซึ่งนับเป็นไขมันบริสุทธิ์จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติไม่เหนียวเหนอะหนะ ซึบซาบเข้ากับผิวหนังได้ง่าย ไม่อันตรายและไม่ระคายเคืองผิว

Cr. qualityplus.co.th

น้ำมันโจโจ้บา (Jojoba Oil)
น้ำมันยอดฮิตในวงการเครื่องสำอาง สกัดจากเมล็ดของโจโจ้บา ซึ่งเป็นไม้พุ่มพื้นเมืองในทวีปอเมริกา และมีคุณสมบัติเป็นตัวช่วยบำรุงผิวพรรณชั้นยอด ทั้งลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่น กักเก็บความชุ่มชื้นของผิว และอ่อนโยนเหมาะกับผิวแพ้ง่าย น้ำมันชนิดนี้ได้รับความนิยมมากในอุตสาหกรรมความงาม เพราะหาได้ง่าย และราคาค่อนข้างถูก

นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันสกัดจากพืชชนิดอื่น ๆ ที่นิยมใช้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนของลิปสติกแต่ละยี่ห้อ อาทิ น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน (Sunflower Seed Oil), น้ำมันอัลมอนด์ (Almond Oil) และน้ำมันมะกอก (Olive Oil) (5) (6) (7)

Cr. www.femina.in, www.livescience.com, www.globaldealer.co

3. สีย้อม (Dye)

เนื่องจากมีกฏหมายห้ามใช้สารปรอทในเครื่องสำอาง  ปัจจุบันวงการผู้ผลิตจึงหันมาใช้สีสังเคราะห์ที่ผ่านมาตฐานการรับรอง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เหมือนกับสีประเภทเดียวกับที่ใช้ทำอาหาร  หรือสีสังเคราะห์จากธรรมชาติ อาทิ

  • สีสกัดจากผักและผลไม้  เช่น สีแดงจากบีทรูท หรือทับทิม
  • สีสกัดจากดอกไม้ เช่น สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน หรือดอกอัลคาเนต (Alkanet)  ส่วนสีเหลืองจากดอกดาวเรืองฝรั่ง (Calendula)
  • สีสกัดจากแมลงและสัตว์ เช่น ผงสกัดจากแมลงปีกแข็ง จะให้สีแดงเลือดหมู ส่วนผงสกัดจากเกล็ดปลา จะให้สีเงินและเพิ่มประกายมุกให้กับลิปสติก

Cr. www.brambleberry.com

Cr. kalonasupernatural.com

นอกจากนี้แล้วลิปสติกบางยี่ห้อยังมีการเติมส่วนผสมอื่นๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น

  • สารกลุ่มเรตินอยด์ส์ (Retinoids) เป็นสารที่มีปฏิกิริยาต่อแสงแดด ส่งผลร้ายต่อ DNA ในร่างกาย ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • สารสังเคราะห์วิตามินอี (Tocopheryl Acetate) ทำให้ริมฝีปากระคายเคือง แห้งแตก และเป็นขุย, สารสกัดจากน้ำมันในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ก่อให้เกิดสิวอุดตัน ผิวหน้าระคายเคืองอยู่ในตัว
  • สารกันเสีย ส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายเสี่ยงเป็นพิษเรื้อรัง

รวมทั้งสารปนเปื้อนหรือธาตุที่เป็นพิษต่างๆ เช่น สารหนู (As), ตะกั่ว (Pb), แคดเมียม (Cd), โคบอลท์ (Co), อะลูมินัม (Al), ไทเทเนียม (Ti), แมงกานีส (Mn), โครเมียม (Cr), ทองแดง (Cu), พลวง (Sb) และนิกเกิล (Ni) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติบางประการให้แก่ลิปสติก หรือมีความคงตัวดีขึ้น เช่น อะลูมินัม ช่วยป้องกันการไหลเยิ้มของเนื้อลิปสติก ไทเทเนียมออกไซด์ช่วยเพิ่มความขาวนวล และทำให้โทนสีนุ่มนวล (8) (9) (10)

แต่ธาตุเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อสมองและระบบประสาท และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ดังนั้นจึงต้องเลือกซื้อและใช้ลิปสติกด้วยความระมัดระวัง

หลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ได้มีการกำหนดมาตรฐานสารปนเปื้อนหรือโลหะหนักในลิปสติกไว้ดังนี้

จากข้อกำหนดมาตรฐานสารปนเปื้อนหรือโลหะหนักในลิปสติกข้างต้น จะเห็นได้ว่าการหาปริมาณโลหะหนักในลิปติก มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเครื่องสำอางที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าเครื่องสำอางประเภทอื่นๆ

จากข้อกำหนดมาตรฐานสารปนเปื้อนหรือโลหะหนักในลิปสติกข้างต้น จะเห็นได้ว่าการหาปริมาณโลหะหนักในลิปติก มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเครื่องสำอางที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าเครื่องสำอางประเภทอื่นๆ

ในปี พ.ศ. 2563 สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) โดยกลุ่มงานวิเคราะห์อนินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ จึงได้เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัด APMP.QM-S17 & -P38 Elements in Lipstick Material  ในรายการการวัดปริมาณ As, Cd, Hg และ Pb ในลิปสติก  และจากรายงานสรุปผลการวัดของ มว. ในเบื้องต้น (Initial result summary of APMP.QM-S17 & -P38) พบว่ามีผลการวัดเป็นที่น่าพอใจ และผลการวัดมีความแม่นยำสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เข้าร่วมการวัดในรายการนี้ ทำให้ผลการวัดโลหะหนักในเครื่องสำอางหรือลิปสติกของ มว. มีความน่าเชื่อในระดับนานาชาติ ดังแสดงในภาพด้านล่าง

ภาพแสดงผลการเข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัด A (สารหนู), B (แคดเมียม), C (ปรอท) และ D (ตะกั่ว) ในลิปสติก (16)

นอกจากนั้นในปี 2563 ถึง 2565  มว. ได้ร่วมมือกับ Health Sciences Authority (HSA) ประเทศสิงคโปร์  ศึกษาความเป็นเนื้อเดียวกันและเสถียรภาพของตัวอย่างลิปสติกที่จะใช้ในโปรแกรมทดสอบความชำนาญ (PT)  ซึ่งพบว่าตัวอย่างมีความพร้อมในการดำเนินการจัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญได้

ดังนั้นในปี 2564  มว. และ HSA จึงได้ร่วมกันจัด ASEAN Reference Material Network (ARMN) PT Programme: Toxic Elements in Lipstick ในรายการวัดปริมาณสารหนู, แคดเมียม และตะกั่ว ในลิปสติกขึ้น  โดยทำการจัดส่งตัวอย่าง PT ลิปสติกให้แก่ห้องปฏิบัติการทดสอบใน ARMN member economies ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  และประเทศไทย ซึ่งผลการจัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญ (PT) ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์โลหะหนักในลิปสติกที่เข้าร่วมโปรแกรมฯ มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

เอกสารอ้างอิง

(1)  ลิปสติก (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ลิปสติก

(2)  ไขคาร์นอบา (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ไขคาร์นอบา

(3)  ไขแคนเดลิลลา (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: 
http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/4593/candelilla-wax

(4)  ทำความรู้จักกับลิปสติก เครื่องสำอางยอดฮิตตลอดกาล (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/900774/

(5)  วิธีการผลิตลิปสติก (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: http://lipstick28843.blogspot.com/2017/

(6)  ลิปสติก ทำมาจากอะไร วิธีทำลิปสติกแบบง่ายๆ  (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://maanow.com/แฟชั่น/33-ลิปสติก-ทำมาจากอะไร.html

(7)  น้ำมันเมล็ดแมคคาเดเมีย (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://www.septchemicals.com/Macadamia Nut Oil

(8)  ลิปสติก ทํามาจากอะไร ? มีส่วนผสมอันตรายอะไรบ้างที่สาว ๆ ควรเลี่ยง ! (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://women.kapook.com/view203093.html

(9)  Does Your Makeup Contain Heavy Metals? Here’s How to Know. (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: https://coconutsandkettlebells.com/does-your-makeup-contain-heavy-metals-heres-how-to-know/

(10)  อันตรายของลิปสติก (ออนไลน์).
แหล่งที่มา: http://www.nernsanticity.go.th/index.php?op=dynamiccontent_detail&dynamiccontent_id=18941&id=7324

(11)  มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (Thai SMEs STANDARD). ผลิตภัณฑ์บำรุงริมฝีปากผสมสมุนไพร. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม. 2561.

(12)  ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลิปสติก. กระทรวงอุตสาหกรรม. 2559.

(13)  พลอยไพลิน ปาละวงศ์ และ ธิติ มหาเจริญ. การวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักในลิปสติกยี่ห้อที่ระบุและไม่ระบุเลของค์การอาหารและยา ด้วยเทคนิค Inductively Coupled Plasma-Optical Emission Spectrometry Determination of Heavy Metals in FDA and Non FDA Registered lipsticks Using Inductively Coupled Plasma-Optical Emission Spectrometry. คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ. 2563.

(14)  ณพัฐอร บัวฉุน. การวิเคราะห์โลหะหนักในเครื่องสำอาง Determination of Heavy Metals in Cosmetics. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. ปีที่ 3 ฉบับที่ 1. มกราคม – มิถุนายน 2559.

(15)  Health Sciences Authority, Singapore, National Metrology Institute of Malaysia and National Metrology Institute of Thailand. ASEAN Reference Material Network (ARMN) Proficiency Testing Programme and Certified Reference Material Production. November 2018.

(16)  Health Sciences Authority. APMP.QM-S17 & -P38 Elements in Lipstick Material. November 2020.

เนื้อหาโดย:

อุษณา เที่ยงมณี
กลุ่มงานวิเคราะห์อนินทรีย์เคมี
ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ

Graphic Design:

ฐานิยา  คัมภิรานนท์
กลุ่มงานสื่อสารองค์การ

Picture Credit: www.freepik.com

# Vectors – photographeeasia , rawpixel.com