Click to Entry

เทคโนโลยีควอนตัม…กับความก้าวล้ำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ นั่นคือ “เทคโนโลยีควอนตัม” ที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังพยายามเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างสุดความสามารถ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างสําหรับโลกยุคถัดไป

เทคโนโลยีควอนตัมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นรุ่นที่ 1 เป็นผลลัพธ์ของการใช้ฟิสิกส์ควอนตัมในการศึกษาและอธิบายอนุภาค หรือสิ่งเล็ก ๆ ในระดับอะตอม หรือเล็กกว่าอะตอม ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่เป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ไม่ว่าจะเป็นโลหะ อโลหะ ตัวนำ หรือฉนวน เมื่อเราเข้าใจพฤติกรรมของสิ่งเหล่านี้จริง ๆ ก็สามารถนำมาใช้งาน หรือสร้างเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือที่เรียกกันว่าเทคโนโลยีได้ เช่น เลเซอร์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องฉายเอ็กซเรย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์นาโน

จนมาถึงยุคเทคโนโลยีควอนตัมรุ่นที่ 2 ที่เราเริ่มมีความสามารถในการที่ควบคุมอะตอมเป็นตัว ๆ หรือแสงเป็นเม็ด ๆ หรือเรียกว่า “โฟตอน (photon)” ได้  และเริ่มมีความสามารถบังคับให้อะตอม หรือโฟตอนย้ายที่ เปลี่ยนสถานะได้ทีละตัว ซึ่งแต่เดิมเรารู้สมบัติเหล่านี้ในทางทฤษฎี แต่ไม่สามารถควบคุมได้ในทางการทดลอง ดังนั้น เมื่อเราสามารถควบคุมได้ เราก็มีโอกาสนำเอาสมบัติ หรือคุณสมบัติพิเศษ ๆ เหล่านี้ไปใช้งานต่อตามแต่จินตนาการและความสามารถที่จะควบคุมอะตอม หรือโฟตอนของเรา

ในประเทศไทยของเรา หลังจากที่ทำวิจัยกันมามากกว่า 6 ปี ขณะนี้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเริ่มมีความสามารถควบคุมอะตอมได้ทีละตัวได้แล้ว ทำให้การวิจัยและสร้าง “นาฬิกาอะตอมเชิงแสง ด้วยไอออนเย็นของธาตุอิตเทอร์เบียม” เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ

ติดตามชมนิทรรศการ “NIMT Quantum Technology” แบบเสมือนจริงได้ที่นี่

คลิ๊กที่ภาพ เพื่อเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการเสมือนจริงแบบ 360 องศา