ปัจจุบัน แรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีความเสี่ยงต่อการรับเอาสารโลหะหนักและสารพิษเข้าสู่ร่างกายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการตรวจหาสารโลหะหนักที่สะสมอยู่ในร่างกาย สามารถทำได้หลากหลายวิธีทั้งจากเลือด และปัสสาวะ โดยการตรวจวัดโลหะหนักในปัสสาวะ จะเป็นการตรวจหาปริมาณโลหะหนักที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย ส่วนการตรวจวัดโลหะหนักในเลือด จะเหมาะกับการวัดโลหะหนักบางชนิด เช่น ตะกั่ว ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และจะสะสมในกระดูก และเนื่องจากระบบเลือดเป็นระบบที่ไหลเวียนทั่วไปร่างกาย การวัดปริมาณโลหะหนักในเลือดจึงเป็นการวัดปริมาณโลหะหนักที่สะสมอยู่ในร่างกายของเรา ดังนั้น หากพบโลหะหนักบางชนิดในปริมาณเพียงเล็กน้อยในเลือด ก็สามารถส่งผลต่อร่างกายได้
จากตารางแสดงค่าดัชนีชี้วัดการได้รับ/สัมผัสทางชีวภาพ (Thai BEIs) สำหรับเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสสารเคมีสำหรับประเทศไทย จะเห็นว่าค่าแนะนำทางวิชาการเป็นค่าที่มีปริมาณในระดับไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นความถูกต้องในการตรวจวัดจึงเป็นสิ่งสำคัญ มว. จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวัดโลหะหนักในเลือดโดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Mass Spectrometer, ICP-MS ที่สามารถวัดได้แม้จะมีโลหะหนักในปริมาณน้อย และให้ผลการวัดที่ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ เพราะผลการวัดที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง เพื่อสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโลหะหนัก และประชาชนทั่วไป
เนื้อหาบทความ โดย
ดร.นันท์นภัส ลายทิพย์
กลุ่มงานวิเคราะห์อนินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ
Graphic design โดย
ฐานิยา คัมภิรานนท์
กลุ่มงานสื่อสารองค์การ
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
.
Credit Vector: www.freepik.com