จากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Novel Corona 2019 หรือ COVID-19) เป็น “การระบาดใหญ่” หรือ pandemic หลังจากเชื้อได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลกนั้น  ในส่วนของประเทศไทย นอกจากผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลแล้ว ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อที่เกิดจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้เช่นกัน

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักด้านมาตรวิทยาของประเทศ มีความตระหนักยิ่งถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำชุดข้อมูลความรู้ด้านมาตรวิทยาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจวัด เพื่อให้เกิดการใช้งานที่ถูกต้อง  การประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา  รวมถึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ และทำการตรวจวัด ทดสอบเครื่องต้นแบบต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย

การวัดไข้สามารถวัดได้จากหลายจุดในร่างกาย วิธีมาตรฐานที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 5 วิธี

  • ทางปาก (Orally)เป็นการวัดอุณหภูมิจากใต้ลิ้นภายในช่องปาก
  • ทางรักแร้ (Axillary) เป็นการวัดไข้โดยให้หนีบเทอร์โมมิเตอร์ไว้ที่รักแร้ แต่ค่าอุณหภูมิปกติจะต่ำกว่าการวัดทางปาก
  • ทางทวารหนัก (Rectally)เป็นการวัดไข้โดยการสอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งค่าอุณหภูมิปกติจะสูงกว่าการวัดทางปาก
  • ทางหู (By Ear)เป็นการวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลทางช่องหู
  • ทางผิวหนัง (By Skin) หรือ Forehead thermometer)เป็นการวัดไข้บริเวณหน้าผากด้วยเทอร์โมมิเตอร์

การวัดไข้อาจเลือกวัดตามความสะดวกหรือแล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดไข้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบปรอทหรือแบบดิจิทัล เพราะปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลสามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว ทั้งยังจัดเก็บดูแลรักษาก็ง่าย แต่ในสถานการณ์การแพรระบาดของไวรัสโคโรน่า โควิด 19 ส่วนใหญ่จะนิยม ใช้แบบ (ear thermometer และ Forehead thermometer เพราะสามารถใช้งานได้ง่ายและปลอดภัย และไม่ต้องมีการสัมผัสแบบใกล้ชิด ซึ่งมีหลักการใช้งานดังนี้

Ear thermometer

ก่อนการวัดไข้ ควรตรวจดูเทอร์โมมิเตอร์ว่า มีสิ่งสกปรกติดอยู่หรือไม่ หากมีติดอยู่ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดออก แต่ไม่ควรนำไปล้างน้ำ  จากนั้น ใส่ฝาครอบเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อช่วยป้องกันสิ่งสกปรก (ควรเปลี่ยนฝาครอบใหม่ทุกครั้งก่อนการใช้วัดไข้)  

หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ให้ดึงติ่งหูลงและเอียงไปทางด้านหลัง เพื่อช่วยให้สอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปในรูหูได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับเด็กอายุมากกว่า 12 เดือนขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ควรดึงติ่งหูขึ้นด้านบนและเอียงไปทางด้านหลังแทน ค่อย ๆ นำเทอร์โมมิเตอร์สอดเข้าไปในช่องหู โดยให้ตำแหน่งที่เป็นตัวรับอุณหภูมิอยู่ตรงตำแหน่งรูหู กดปุ่มวัดอุณหภูมิและอ่านค่า

Forehead thermometer  

วิธีการใช้งาน

  1. ตั้งค่าการใช้งานเป็นโหมดการวัดอุณหภูมิร่างกาย ปกติเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผาก มีอย่างน้อย 2 โหมด คือ โหมดการวัดอุณหภูมิพื้นผิว และโหมดการวัดอุณหภูมิร่างกาย
  2. วัดอุณหภูมิ โดยชี้เครื่องวัดอุณหภูมิไปที่หน้าผาก ให้มีระยะห่างจากผิวหนังตามที่ผู้ผลิตแนะนำ โดยทั่วไปมีระยะไม่เกิน 15 ซม.
  3. อ่านค่าผลการวัด เมื่อมีสัญญาณเสียงหรือสัญลักษณ์ที่แสดงว่าทำการวัดเสร็จสิ้น ควรทำการวัดอย่างน้อย 3 ครั้ง หากผลการวัดไม่เท่ากัน ให้ใช้ค่าที่มากที่สุด
  4. หากสงสัยในผลการวัด ควรทำการวัดซ้ำด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์ชนิดอื่น เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรดในช่องหู

ข้อควรระวัง

  1. ศึกษาคู่มือก่อนการใช้งาน
  2. เครื่องวัดอุณหภูมิผิวหนังควรอยู่ในสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่ทำการวัด ไม่น้อยกว่า 30 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของการวัดเท่ากับอุณหภูมิแวดล้อม
  3. ไม่ควรสัมผัสหรือหายใจบนเลนส์ของหัววัด
  4. ผู้ถูกวัดควรอยู่ในบริเวณที่ทำการวัดอย่างน้อย 5 นาทีก่อนการวัด ไม่ควรออกกำลังกายหรืออาบน้ำ ก่อนถูกวัดอุณหภูมิเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
  5. อุณหภูมิร่างกายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ การเผาผลาญพลังงาน เสื้อผ้าที่สวมใส่ อุณหภูมิแวดล้อม และกิจกรรมที่ทำเป็นต้น

บนสังคมออนไลน์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำในการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหน้าผาก ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยตรวจคัดกรองคนที่มีไข้ได้อย่างรวดเร็ว เรื่องนี้เป็นอย่างไรไป ติดตามจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ คลิก

แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรค

ในช่วงเวลาที่ “แอลกอฮอล์”  ถูกใช้เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19  ความต้องการของประชาชนมีมากกว่าสินค้าในตลาด   

มว. ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเก็บรักษา และการตรวจสอบประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อโรค  เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เกิดความมั่นใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ

นอกจากนั้น มว. ยังได้จัดทำ “แอลกอฮอล์สเปรย์” ที่ทำการผสมโดยนักมาตรวิทยาของสถาบัน เพื่อให้เกิดความเชื���อมั่นว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 75% ���ึ่งเพียงพอที่จะทำลายเชื้อโรคได้  ส่วนเอทานอล 95% ซึ่งเป็นส่วนผสมหลัก ได้รับความอนุเคราะห์บริจาคโดย บริษัท ราชบุรี เอทานอล จำกัด มาที่ อว. เพื่อร่วมบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ซึ่ง แอลกอฮอล์สเปรย์นี้ มว. ได้บริจาคให้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงรากน้อย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

บนสังคมออนไลน์แชร์หลากหลายวิธีการทดสอบชนิดของแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ล้างมือ เพื่อฆ่าเชื้อโควิด-19

มีวิธีใดบ้าง ติดตามจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์

นอกจากนั้น บนสังคมออนไลน์ ยังมีการแชร์คลิปเตือนให้ระวังการเก็บเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ในรถ เพราะเสี่ยงติดไฟ ทำให้เกิดไฟไหม้และระเบิดได้

เรื่องนี้จริงหรือไม่ ? ติดตามจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์

เทคโนโลยีรังสียูวีซี ทำลายเชื้อโรค

เป็นที่ทราบกับดีว่าเทคโนโลยีรังสียูวีซี สามารถทำลายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ มว. ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลรักษามาตรฐานแห่งชาติทางด้านแสง ได้ใช้ทั้งศักยภาพด้านมาตรวิทยาในการสร้างเครื่องต้นแบบที่ใช้ในการฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซี เพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความมั่นใจในการใช้นวัตกรรม  และความสามารถในการตรวจสอบค่าความเข้มแสงยูวีซี เพื่อช่วยกำหนดระยะเวลาการบ่มฆ่าเชื้อที่เหมาะสมตามมาตรฐานสากล รวมไปถึง การเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้งานหลอดยูวีซีที่ถูกต้อง อันจะลดอันตรายที่เกิดจากการใช้งานอย่างไม่ถูกต้องได้ 

บนสังคมออนไลน์ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ การนำหลอดรังสียูวีมาใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ทั้งวิธีการใช้และการเลือกใช้ รวมถึงคำเตือนที่ว่าต้องใช้อย่างระมัดระวัง
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ? ติดตามจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์

ห้องความดันลบ

ห้องความดันลบ หรือ ห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure เป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยว ที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก ซึ่งตามปกติ อากาศจะไหลจากที่ที่มีความดันอากาศสูงกว่าไปหาที่ที่มีความดันอากาศต่ำกว่า นั่นหมายความว่า อากาศภายในห้องผู้ป่วยซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่า จะไม่ไหลออกจากห้องเมื่อมีการเปิด-ปิดประตู และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ในสถานพยาบาล

เครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมความดันของห้องความดันลบ คือ Diferential Pressure Gauge ซึ่งในระบบคุณภาพจะถูกสอบเทียบเป็นลำดับมายัง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ในฐานะที่ดูแลรักษามาตรฐานแห่งชาติด้านความดัน เพื่อให้ได้ผลการวัดที่มีความถูกต้อง 

ฉะนั้นเมื่อห้อง 2 ห้องมีความดันที่ต่างกัน เมื่อเวลาเปิด-ปิดประตู อากาศจะถูกดูดเข้าไปในห้องความดันลบ อากาศภายในก็จะไม่แพร่ออกสู่ภายนอก หรือออกไปสู่โถงทางเดินของโรงพยาบาล จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศได้  และอากาศภายในห้องความดันลบนี้ จะหมุนเวียนอยู่ภายในห้อง อากาศที่ไหลออกจากห้องจะถูกดูดโดยพัดลมดูดอากาศ และผ่านการกรองอากาศคุณภาพสูงได้ ที่เรียกว่า HEPA (ย่อมาจาก high-efficiency particulate arrestance) ที่สามารถดักจับอนุภาคขนาดเล็กเพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่นำออกไปนอกอาคารจะมีความสะอาดเพียงพอ

โดยในห้องความดันลบนี้จะมีช่องเล็กๆ ด้านล่างประตูที่สามารถให้อากาศไหลเข้าไปในห้องได้ โดยเราสามารถทดสอบการทำงานของห้องความดันลบอย่างง่ายๆ โดยนำกระดาษชำระน้ำหนักเบาวางไว้บริเวณขอบประตูเข้าออก ถ้ากระดาษชำระโดนดูดเข้าไปแสดงว่าห้องความดันลบสามารถทำงานได้เป็นปรกติ หรือการทดสอบโดยการใช้ควันก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโดยใช้ห้องความดันลบแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปดูแลรักษาผู้ป่วยในห้องความดันลบนี้ยังจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE (ย่อมากจาก Personal Protective Equipment) เพื่อป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อด้วย 

ห้องความดันลบ (Negative Pressure room) คืออะไร แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า อากาศภายในห้องความดันลบ จะต่ำกว่าความดันอากาศของห้องภายนอก ไม่น้อยกว่า 2.5 Pascal 

ติดตามหาคำตอบ ได้ที่นี่

มว. เข้าร่วมศึกษาวิจัยในระดับจีโนมิกส์ (Genomics)

เพื่อวางแผนพัฒนาวิธีการตรวจ SARS-CoV-2 RNA หรือ Covid-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นภาวะโรคระบาดรุนแรง (Pandemic) ทั่วโลก

นักวิจัยในกลุ่ม Bio Analysis จากประเทศชั้นนำจึงได้ร่วมมือศึกษาวิจัยในระดับจีโนมิกส์ (Genomics) เพื่อวางแผนพัฒนาวิธีการตรวจ SARS-CoV-2 RNA  หรือ การตรวจ Covid-19 โดยวิธีเปรียบเทียบผลการวัด เพื่อให้ได้วิธีการตรวจวัดที่รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำสูง และนำไปสู่การผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองมาตรฐาน (Certified Reference Material) ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั่วโลกที่ใช้ในการตรวจวัด COVID-19 ด้วยเทคนิค PCR  โดยมีนักวิจัยจากสถาบันมาตรวิทยาทั้งหมด 15 ประเทศจากทั่วโลก  รวมถึงสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ประเทศไทย เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างประเทศดังกล่าว ด้วยเทคนิค digital PCR  (Polymerase Chain Reaction) หรือ qPCR ในครั้งนี้ด้วย

มว. ร่วมฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ด้วยการ ส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีแบบ New Normal ด้วยมาตรวิทยา