โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการสู่การมีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัย  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการให้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ มีการทำงานอย่างเป็นระบบ เกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้าและบริการของไทย แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีโลก รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ นำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (Quality Infrastructure: QI) ได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเริ่มมีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นในการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ จึงได้มีการหารือเกี่ยวกับนิยามของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพในการประชุมประจำปีของ Network on Metrology, Accreditation and Standardization for Developing Countries (DCMAS) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 โดยมี United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) เป็นเจ้าภาพ

ซึ่งที่ประชุมได้ให้การรับรองนิยามของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ ดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure หรือ NQI) คือ ระบบที่ประกอบขึ้นจากองค์กร ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมีนโยบาย กฎหมายและกรอบการกำกับดูแล และแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยองค์กรในระบบ NQI ดำเนินงานร่วมกันภายใต้กระบวนการ 5 ด้าน ได้แก่

มาตรวิทยา

Metrology

การกำหนดมาตรฐาน

Standardisation

การรับรองระบบงาน

Accreditation

การตรวจสอบและรับรอง

Conformity Assessment

การกำกับดูแลตลาด

Market Surveillance

องค์ประกอบ 5 ด้านนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ (1) กลุ่มแกน (core component) ที่มีการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ และ (2) กลุ่มบริการและกำกับดูแล เพื่อให้ผลการดำเนินการของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ มีประสิทธิภาพ สามารถลด หรือขจัดกำแพงการค้าทางเทคนิคได้จริง

กลุ่มแกน ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ลำดับแรก ได้แก่ มาตรวิทยา (metrology) การกำหนดมาตรฐาน (standardisation) และการรับรองระบบงาน (accreditation) โดยทั้ง 3 องค์ประกอบมีการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติผ่านการจัดทำข้อตกลงระดับพหุภาคีเพื่อสร้างการยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ดังนั้นการดำเนินการใน 3 องค์ประกอบแรกนี้จึงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่รัฐมอบหมาย มีสถานะเป็นผู้แทนของรัฐในการดำเนินการ รวมทั้งเป็นผู้แทนรัฐในการเจรจาระหว่างประเทศและลงมติในด้านนั้น ๆ

กลุ่มบริการและกำกับดูแลประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ลำดับสุดท้าย ได้แก่ การตรวจสอบและรับรอง (conformity assessment) และการกำกับดูแลตลาด (market surveillance) ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือถ่ายทอดผลลัพธ์ของการดำเนินงานของ 3 องค์ประกอบแรกมาสู่ภาคการใช้งาน (user) และตลาด (market) ดำเนินการโดยหน่วยที่มีความสามารถ (competency) หรือได้รับมอบหมาย (authorised) โดยที่การตรวจสอบและรับรองทำไปเพื่อแสดงคุณภาพ หรือความสอดคล้องกับมาตรฐาน จึงเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจ ในขณะที่การกำกับดูแลตลาดเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้าและในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค

Quick Link:

pin-std

มาตรวิทยา

Metrology

มาตรวิทยา (metrology) หมายถึง วิทยาศาสตร์ของการวัด (science of measurement) จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำให้การวัด (measurement) มีความแม่นยำและเที่ยงตรง และผลการวัด (measurement result) ไม่ว่าจะกระทำที่ใด เมื่อใด หรือโดยผู้ใดสามารถเปรียบเทียบกันได้ และผลการวัดสามารถนำไปใช้งานได้ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ กระบวนการมาตรวิทยาเริ่มต้นจากการตกลงเลือกหน่วยวัด (unit of measurement) เพื่อเป็นปริมาณอ้างอิง  ดังนั้นระบบมาตรวิทยาระหว่างประเทศจึงเริ่มต้นจากการจัดตั้งระบบหน่วยที่ยอมรับร่วมกันทั่วโลก เนื่องจากระบบหน่วยดังกล่าวเป็นพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศ จึงทำให้การตกลงยอมรับระบบหน่วยวัดร่วมกันนี้กระทำในรูปแบบของอนุสัญญาระหว่างประเทศ เรียกว่า อนุสัญญาเมตริก (The Convention of the Metre) มีการลงนามครั้งแรกในปี 2418 (ค.ศ. 1875) ระบบหน่วยดังกล่าวได้พัฒนาต่อมาจนเป็นระบบหน่วยเอสไอ (International System of Units: SI Units) ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการวัดทั้งปวงในปัจจุบัน

หน่วยฐาน (base unit) ในระบบหน่วยเอสไอ คือปริมาณอ้างอิง หากผลการวัดจะสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างมีความหมาย (meaningful) ก็หมายความว่าผลการวัดจะต้องอ้างอิงกับปริมาณอ้างอิงเดียวกัน ดังนั้นแนวคิดเรื่องความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา (metrological traceability) จึงเป็นแนวคิดหลักของกระบวนการมาตรวิทยา ความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยานี้แสดงผ่านมาตรฐานการวัด (measurement standards) กล่าวคือมาตรฐานการวัดอ้างอิงของประเทศ หรือมาตรฐานการวัดแห่งชาติ (national measurement standard) ต้องมีความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาไปยังหน่วยเอสไอ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการที่รับรองว่า มาตรฐานการวัดแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพื่อเป็นหลักอ้างอิง ส่วนมาตรฐานการวัดระดับรองลงมาในประเทศใด ๆ ให้มีความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาไปยังมาตรฐานการวัดแห่งชาติ นอกจากจะเป็นหลักอ้างอิงในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านกระบวนการชั่ง ตวงและวัดแล้ว ปัจจุบัน มาตรวิทยายังได้รับการประยุกต์ในอีกหลายด้าน เช่น ในกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพทางอุตสาหกรรม ในกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์และในการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น โครงสร้างของกระบวนการทางมาตรวิทยาสามารถแสดงได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

โครงสร้างกระบวนการทางมาตรวิทยา (metrological methodology)

ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาเมตริกตั้งแต่ปี 2455 และเข้าร่วมข้อตกลงการยอมรับร่วมในมาตรฐานการวัดแห่งชาติและใบรับรองการสอบเทียบที่ออกโดยสถาบันมาตรวิทยาของประเทศสมาชิก (CIPM Mutual Recognition Arrangement: CIPM MRA) ในปี 2542

การกำหนดมาตรฐาน

Standardisation

การกำหนดมาตรฐาน (standardisation) หมายถึง การจัดทำเอกสารข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบ หรือแนวปฏิบัติในการดำเนินงานให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในการผลิตสินค้าของโรงงานผู้ผลิต หรือการนำไปใช้อ้างอิงเพื่อการจัดซื้อของผู้ซื้อ โดยข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือแนวทางข้างต้นอาจจะเป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ หรือรายละเอียดกระบวนการก็ได้ เช่น มาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต อาจกำหนดขนาดและความสามารถในการรับแรงดึงที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น เพื่อให้มาตรฐานของประเทศใดประเทศหนึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า จึงมีการจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ (international standardisation organisation) ขึ้นหลายสาขา เพื่อเป็นองค์กรกลางในการจัดให้มีมาตรฐานระหว่างประเทศ (international standards) ที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งองค์กรการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) สนับสนุนให้ประเทศสมาชิก
นำมาตรฐานระหว่างประเทศไปใช้ หรือเป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดมาตรฐานของประเทศ (national standard) ตัวอย่างองค์กรกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ International Organization for Standardization (ISO) และ International Electrotechnical Commission (IEC) ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้ง International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระดับของมาตรฐานสามารถแสดงได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

การรับรองระบบงาน

Accreditation

การรับรองระบบงาน (accreditation) หมายถึง กระบวนการประเมินหน่วยตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment Body: CAB) ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างอิสระ เพื่อให้มั่นใจในความเป็นกลางและความสามารถของหน่วยดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาล ผู้ซื้อและผู้บริโภคสามารถเชื่อมั่นในผลการสอบเทียบและทดสอบ (calibration and test result) รายงานการตรวจ (inspection report) และใบรับรอง (certification) ที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบและรับรอง องค์กรรับรองระบบงาน (Accreditation Body, AB) ในหลายประเทศได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรับประกันว่าหน่วยตรวจสอบและรับรองได้รับการตรวจสอบ รับรองและกำกับดูแลโดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ (authoritative body) องค์กรรับรองระบบงานที่ได้รับการประเมินว่ามีความสามารถจะลงนามในข้อตกลง (arrangement) ที่ผลักดันการยอมรับผลิตภัณฑ์และบริการข้ามพรมแดน จึงเป็นการสร้างกรอบที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศผ่านการยกเลิกกำแพงการค้าทางเทคนิค โดย International Accreditation Forum (IAF) รับผิดชอบบริหารข้อตกลงเกี่ยวกับการรับรองระบบบริหาร ผลิตภัณฑ์ บริการ บุคลากร และโปรแกรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรอง ส่วน International Laboratory Accreditation Cooperation (ILAC) รับผิดชอบบริหารข้อตกลงเกี่ยวกับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการและหน่วยตรวจ โครงสร้างของกระบวนการรับรองระบบงาน และความสัมพันธ์กับการตรวจสอบและรับรองสามารถแสดงได้ดังแผนภูมิด้านล่าง

การตรวจสอบและรับรอง

Conformity Assessment

การตรวจสอบและรับรอง (conformity assessment) หมายถึง การดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการเพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ บริการ หรือระบบมีสมบัติตามที่มาตรฐานระบุหรือไม่ รูปแบบหลักของการตรวจสอบและรับรองคือ การทดสอบ (testing) การรับรอง (certification) และการตรวจ (inspection) การผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองมีประโยชน์หลายด้าน เช่น สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ และช่วยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตัดสินว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการ มีสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขด้านความปลอดภัย สุขอนามัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งของการตรวจสอบและรับรอง คือ ผลการตรวจสอบและรับรองเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในทุกประเทศ การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ หน่วยตรวจสอบและรับรองต้องได้รับการรับรองระบบงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (accredited) โดยองค์กรรับรองระบบงานที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถ (competent accreditation body) และใช้การตรวจสอบและรับรองที่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ (conform to international or recognised standard)

การกำกับดูแลตลาด 

Market Surveillance

การกำกับดูแลตลาด (market surveillance) คือกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าสินค้าและบริการที่เข้าสู่ตลาดนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ความเป็นธรรมทางการค้า การแข่งขันที่เป็นธรรมและประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ การกำกับดูแลตลาดใช้เครื่องมือและกลไกตามกฎหมาย เช่น การสั่งให้ถอนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดออกจากตลาด การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ การปรับ การห้ามไม่ให้เข้าสู่ตลาด และวิธีการอื่น ๆ ที่จะหยุดการหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์นั้นในตลาด รวมถึงการให้ผู้ผลิตแก้ไขจนผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การกำกับดูแลตลาด ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อสินค้า และช่วยให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และไม่ต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่พ่อค้าที่ทุจริต ความอ่อนแอหรือความไม่มีประสิทธิภาพของการกำกับดูแลตลาดจะทำให้เกิดภาวะตลาดล้มเหลว (market failure) นั่นคือผู้ประกอบการที่ผลิตและขายสินค้าที่ดีไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการที่ทุจริตได้ ต้องเลิกกิจการในที่สุด และท้ายที่สุด ผู้บริโภคจะไม่มีความมั่นใจในการซื้อสินค้าในตลาดนั้น ทำให้ตลาดหดตัวและปิดตัวลงในที่สุด การกำกับดูแลตลาดต้องทำงานร่วมกับศุลกากรอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด ความท้าทายในการกำกับดูแลตลาดในปัจจุบันคือจำนวนสินค้าที่เข้าสู่ตลาดในแต่ละวันนั้นมากมายและเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งสินค้าที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนก็เพิ่มจำนวนและความหลากหลายขึ้นอย่างรวดเร็ว

มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

Click ที่ภาพ เพื่อ DownloadE-Brochure: มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนา...

อ่านเพิ่มเติม
มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าว

มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าว

Click ที่ภาพ เพื่อ DownloadE-Brochure: มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนา...

อ่านเพิ่มเติม
แผ่นพับ – มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวและสมุนไพรไทย

แผ่นพับ – มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวและสมุนไพรไทย

แผ่นพับ – มาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวและสมุนไพรไทย...

อ่านเพิ่มเติม