รู้หรือไม่! ทุกวันที่ 7 เมษายน เป็น “วันอนามัยโลก (World Health Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ ใช้เป็นโอกาสรณรงค์กับประเทศสมาชิก ประชาชน และทุกภาคส่วนของสังคม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน การแก้ปัญหาสุขภาพ และการส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

     โดยในปี 2022 หรือปี พ.ศ. 2565 นี้ องค์การอนามัยโลก มุ่งเน้นสื่อสารภายใต้แคมเปญ Our planet, our health (โลกของเรา, สุขภาพของเรา)

     แล้วงานมาตรวิทยา เข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างไร มาดู Highlight ผลงาน มว. ที่ผ่านมากัน

ด้านเครื่องมือวัดทางการแพทย์

    เนื่องจากเครื่องมือวัดทางการแพทย์ มีความสำคัญและสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้  ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ “เครื่องมือวัดทางการแพทย์” จะต้องได้รับการรับรองค่าความถูกต้องเป็นไปตามหลักมาตรวิทยาสากล และสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา (Metrological traceability)

     มว. จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19  โดยการ เชิญชวนสถานพยาบาลต่างๆ ที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานพยาบาลขนาดเล็กในส่วนท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถส่ง “เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส (Infrared Forehead Thermometer)” เพื่อขอรับบริการสอบเทียบจาก มว. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nimt.or.th/main/?p=35114

     นอกจากนั้น มว. ยังได้เร่งขับเคลื่อน  “โครงการประยุกต์ใช้มาตรวิทยาเพื่อการคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19” อย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งมอบ “เครื่องทดสอบเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (Infrared Thermometer Tester)” ให้แก่สถานพยาบาลและหน่วยบริการประชาชน เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ ในการทดสอบความถูกต้องของการใช้เครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อช่วยยับยั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19

  ทั้งนี้ “เครื่องทดสอบเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย” ที่ มว. ได้ส่งมอบให้กับสถานพยาบาล และหน่วยบริการประชาชนนี้ ได้ผ่านการสอบเทียบและได้รับการรับรอง (Certified) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะส่งผลดีต่อการสร้างมาตรฐาน ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายให้แก่ผู้ใช้งาน ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ที่ได้จากการใช้เครื่องมือวัด ที่ผ่านการทดสอบความถูกต้องแม่นยำแล้ว

  อย่างไรก็ดี ในช่วงประเทศไทยต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ส่งผลให้สถานพยาบาลส่วนใหญ่ ไม่สามารถรองรับการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ระดับสีเหลืองและสีแดงได้อีกแล้วนั้น

    ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ “เครื่องช่วยหายใจ” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้คนไข้ส่วนใหญ่ กลับมาหายดีจากโรคติดเชื้อโควิด-19 เพราะช่วยให้ระบบการหายใจของผู้ป่วย มีประสิทธิภาพในระหว่างการรักษา หรือช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วย ฟื้นตัวจนกว่าจะหายใจได้เอง

    อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเครื่องช่วยหายใจจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าการวัดต่างๆ เช่น ความดันและอัตราการไหลที่ใช้ในระบบเครื่องช่วยหายใจจะต้องมีความถูกต้องแม่นยำให้สอดคล้องกับความถูกต้องแม่นยำของเครื่องช่วยหายใจ ด้วยเหตุนี้ มว. จึงตระหนักถึงความสำคัญของการถ่ายทอดค่าความถูกต้องตามมาตรฐานสากล ไปยังเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ในการสอบเทียบเครื่องช่วยหายใจ อันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วย และช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เกิดความมั่นใจในขณะใช้งาน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nimt.or.th/main/?p=31809

     ในขณะเดียวกัน นอกจากผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลแล้ว ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เกิดจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้เช่นกัน  มว. จึงได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา ที่ได้ทำการวัดอย่างแม่นยำในห้องปฏิบัติการของสถาบันที่มีการยอมรับในระดับสากล ภายใต้แนวคิด “การนำแสงยูวีซีมาใช้กำจัดเชื้อโควิด-19”  จำนวน 3 ประเภท ประกอบด้วย “เครื่องฆ่าเชื้อในห้องผู้ป่วยโรงพยาบาลภาคสนาม”  “เครื่องฆ่าเชื้อในรถพยาบาล” และ “เครื่องฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซี ที่ดัดแปลงมาจากไมโครเวฟที่ใช้แล้ว” ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการทดสอบแล้วว่า มีความเข้มของแสงเหมาะสม  และมีความปลอดภัยด้านไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล  โดยเครื่องมือทั้งหมดได้ส่งมอบให้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ใช้ประโยชน์ต่อไป

และเพื่อสนับสนุนให้ “เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์” ได้รับการสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา (Metrological Traceability) มว. จึงได้จัดทำ “โครงการบ่มเพาะ และให้การรับรองความสามารถทางวิชาการด้านมาตรวิทยาทางการแพทย์” ขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายสังคมห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาทางการแพทย์ และสร้างความสอบกลับได้สู่เครื่องมือวัดทางการแพทย์ ผ่านห้องปฏิบัติการเครือข่าย

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nimt.or.th/main/?p=37959

ด้านการจัดทำสื่อเพื่อสร้างความตระหนัก

     ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  มว. ได้จัดทำสื่อเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของงานมาตรวิทยาต่อการใช้งานเครื่องมือแพทย์ รวมถึงจัดทำสื่อเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในหลายหัวข้ออีกด้วย

Click ที่ภาพ เพื่ออ่านรายละเอียดเติ่มเติม

ขอบคุณข้อมูล:
https://www.who.int/campaigns/world-health-day/2022/